ความสัมพันธ์ระหว่างลายนิ้วมือและสมอง(1)

ความสัมพันธ์ระหว่างลายนิ้วมือและสมอง(1)

การค้นพบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างลายนิ้วมือและสมองเป็นผลมาจากการที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าสังเกตว่าทารกในครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้างในแต่ละสัปดาห์จนได้เห็นถึงความเชื่อมโยงบางอย่าง รวมทั้งในเวลาต่อมาได้มีการเก็บตัวอย่างลายฝ่ามือและฝ่าเท้าของผู้ที่มีความผิดปกติทางโครโมโซมและทางสมองแต่กำเนิดไว้เพื่อการศึกษา จนสามารถค้นพบถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ่งนี้อย่างชัดเจน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ลายนิ้วมือและเซลล์สมองมีต้นกำเนิดมาจากเซลล์ชนิดเดียวกัน

หลังจากเกิดการปฏิสนธิแล้ว ในช่วงสองสัปดาห์แรก เซลล์ของตัวอ่อนจะเกิดเคลื่อนที่และแบ่งชั้นเป็นชั้นเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ได้แก่ Endoderm Mesoderm และ Ectoderm โดยเซลล์แต่ละชนิดจะพัฒนาไปเป็นอวัยวะต่างๆในร่างกายดังนี้

  1. Mesoderm จะพัฒนาไปเป็นหัวใจและระบบหมุนเวียนเลือด กล้ามเนื้อโครงร่าง โครงกระดูก ชั้นหนังแท้ของผิวหนัง crystal lens ของตา เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ระบบสืบพันธุ์และขับถ่ายปัสสาวะ เลือด (เซลล์น้ำเหลือง) และม้าม
  2. Endoderm จะพัฒนาไปเป็นกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ตับ ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ เยื่อบุของท่อปัสสาวะ เนื้อเยื่อบุผิวของท่อลม ปอด คอหอย ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ และลำไส้
  3. Ectoderm จะพัฒนาไปเป็นระบบประสาท เริ่มจากที่สมอง เส้นประสาทที่สันหลัง กระดูกสันหลัง ต่อมต่างๆ และเติบโตไปเป็น ผิวหนัง เส้นผม เล็บ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และฟัน

2. ลายนิ้วมือและสมองมีการพัฒนาไปพร้อมๆกัน

จากการศึกษาพบว่า หลังจากการปฎิสนธิผ่านไปแล้วเป็นเวลา 8 สัปดาห์ นิ้วมือของเราจึงจะเริ่มมีการพัฒนาโดยปรากฏขึ้นเป็นตุ่มเล็กๆในบริเวณที่เป็นมือของเราในปัจจุบัน เมื่อย่างเข้าสัปดาห์ที่ 10-11 ลายนิ้วมือจะเริ่มปรากฎบนผิวหนังชั้นนอกเป็นครั้งแรก และจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆจนเข้าสัปดาห์ที่13 การพัฒนาของรูปแบบลายนิ้วมือจะสิ้นสุดในราวสัปดาห์ที่ 21-24 ในขณะเดียวกันสมองของเราก็จะเริ่มพัฒนาเรื่องของเซลล์ประสาทและระบบประสาทในช่วงเวลาเดียวกันนี้ โดยช่วงเวลาสำคัญจะอยู่ราวสัปดาห์ที่ 15-24 ในครรภ์มารดา จึงสรุปได้ว่าสมองและลายนิ้วมือมีการพัฒนาไปพร้อมกันระหว่างทารกอยู่ในครรภ์

3. ความผิดปกติสมองและโครโมโซมที่มีมาโดยกำเนิดสามารถวิเคราะห์ได้จากลายนิ้วมือ

จากการศึกษาทางการแพทย์ในกลุ่มเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมและความผิดปกติอื่นๆในกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดจากโครโมโซมและส่งผลต่อการพัฒนาสมอง พบว่าจากข้อมูลที่เก็บได้จาก ลายฝ่ามือและฝ่าเท้า จะมีความผิดปกติบางประการเช่นเดียวกับการพัฒนาของสมอง นอกจากจะมีรูปแบบลายนิ้วที่เป็นเอกลักษณ์ และขนาดของมือและนิ้วที่ผิดปกติแล้ว สิ่งสำคัญคือจำนวนเส้นบนลายนิ้วมือที่น้อยกว่าเด็กปกติ เมื่อวิจัยจนเห็นชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างลายนิ้วมือและสมองแล้วจึงมีการสรุปว่าเมื่อโครโมโซมมีความผิดปกติ พัฒนาการของสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ก็จะผิดปกติตามไปด้วย ส่งผลให้พัฒนาการทุกด้านของเด็กกลุ่มนี้ก็จะช้ากว่าเด็กทั่วไป

ในปัจจุบันการนับจำนวนเส้นบนลายนิ้วมือ ถือเป็นวิธีการหนึ่งในทางพันธุศาสตร์เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของโครโมโซมและสมอง นอกจากโรคดาวน์ซินโดรมแล้วลายนิ้วมือยังสามารถบ่งชี้ถึงความผิดปกติของมนุษย์อันเนื่องมาจากโครโมโซมได้อีก เช่นไคลน์เฟลเตอร์ซินโดรม พาทัวซินโดรม เอ็ดเวิร์ดซินโดรม แคทครายซินโดรม เป็นต้น

ด้วยการค้นพบถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมองและลายนิ้วมืออันอัศจรรย์นี้เอง จึงนำไปสู่การศึกษาเรื่องการวิเคราะห์ลายนิ้วมือเพื่อบ่งบอกนิสัยและศักยภาพ เพราะนักวิทยาศาสตร์มีแนวคิดว่า ถ้าลายนิ้วมือมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสมองจนสามารถใช้บ่งบอกถึงความผิดปกติของสมองได้ ในทางกลับกันก็น่าจะสามารถบ่งชี้ถึงศักยภาพและตัวตนของมนุษย์เราได้เช่นกัน

**หมายเหตุ ทางบริษัทฯไม่มีนโยบายการวิเคราะห์ความเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของสมอง เนื่องจากต้องการมุ่งเน้นที่การศึกษาและความเข้าใจในตนเองเป็นสำคัญซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญและวัตถุประสงค์หลักของบริษัทฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง